สคร.ที่ 11 นครศรีธรรมราช วิจัยนวัตกรรมเฝ้าระวังเชื้อไวรัสก่อโรคในยุงลาย
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช วิจัยนวัตกรรมเฝ้าระวังเชื้อไวรัสเดงกี ชิคุนกุนยา และซิกา ในยุงลายบ้านและยุงลายสวน โดยเก็บ pool ตัวอย่างยุงเกาะพักในบ้าน สามารถนำมาใช้วิเคราะห์แหล่งที่มาของการแพร่กระจายไวรัสเดงกี ชิคุนกุนยา และซิกา เฝ้าระวังทางกีฏวิทยาสำหรับยุงลายพาหะนำโรค และเฝ้าระวังโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ทั้งไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และซิกา
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) ในฐานะประธานคณะกรรมการ MIU (MOPH Intelligence Unit) กระทรวงสาธารณ สุข กล่าวว่า โรคติดต่อนำโดยยุงลาย ทั้งโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของไทย สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 (สคร.) จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงได้วิจัยนวัตกรรมการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสเดงกี ไวรัสชิคุนกุนยา และไวรัสซิกา ในยุงลายบ้านและยุงลายสวน โดยศึกษากึ่งทดลองในกลุ่มตัวอย่างอาคารบ้านเรือน และกลุ่มตัวอย่างยุงลายเกาะพักในอาคารบ้านเรือน 6 พื้นที่เสี่ยงสูงต่อโรคไข้เลือดออก ในตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต และตำบลกะไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา อย่างน้อยพื้นที่ละ 200 หลัง บันทึกตำแหน่งโดยใช้เครื่องวัดพิกัด GPS และเก็บตัวอย่าง pool ของยุงลายพื้นที่ละ 100 pools ด้วยเครื่องดูดยุง เพื่อทำการสกัด RNA
นพ.รุ่งเรืองกล่าวต่อว่า ผลการศึกษาพบการติดเชื้อร่วมระหว่างเชื้อไวรัสเดงกี ซีโรไทป์ 1, 2 และ 3 กับเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาในตัวอย่าง pool ของยุงลายบ้าน 1 pool คิดเป็นร้อยละ 1 จากพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบการติดเชื้อไวรัสเดงกี ซีโรไทป์ 1 ในตัวอย่าง pool ของยุงลายบ้าน 1 pool คิดเป็นร้อยละ 1 จากพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และไม่พบการติดเชื้อไวรัสในตัวอย่าง pool ของยุงลายบ้าน จากพื้นที่จังหวัดพังงา ส่วนตัวอย่าง pool ของยุงลายสวน ซึ่งเก็บได้เฉพาะพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่พบการติดเชื้อไวรัสเช่นกัน สำหรับอาคารบ้านเรือนที่พบยุงลายตัวเต็มวัยเกาะพัก มีลักษณะการกระจายเป็นกลุ่มก้อน สอดคล้องกับชีวนิสัยของยุงลายบ้านที่ชอบวางไข่ตามภาชนะรองรับน้ำในบ้านและรอบบ้าน มีระยะบินออกหากินเลือดและแหล่งเกาะพักเป็นช่วงสั้นๆ จึงพบว่าอาคารบ้านเรือนที่ยุงลายตัวเต็มวัยเกาะพักมีระยะใกล้กันมาก ซึ่งชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ชุมชนพักอาศัยอาจเป็นปัจจัยกำหนดสำคัญอย่างหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อพลวัตประชากรยุงลายและการแพร่พันธุ์ของยุงลาย
“จากผลการวิจัย ทำให้สามารถนำวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสในยุงมาใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินทางระบาดวิทยาโดยตรง เพื่อวิเคราะห์แหล่งที่มาของการแพร่กระจายไวรัสเดงกี ชิคุนกุนยา และซิกา เฝ้าระวังทางกีฏวิทยาของยุงลายและเฝ้าระวังโรคติดต่อนำโดยยุงลาย รวมถึงถ่ายทอดนวัตกรรมไปยังเครือข่ายบริการสุขภาพในเขตสุขภาพที่ 11 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ สามารถทำการศึกษาวิจัยต่อยอดได้ในประเด็นเกี่ยวกับจำนวนตัวอย่าง Pool ของยุงลายตัวเต็มวัยเกาะพักในบ้านที่จับได้จากพื้นที่ที่มีนิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อมต่างกันและจากหลายจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค รวมถึงประเด็นยุงลายตัวเต็มวัยเพศผู้ หรือยุงที่มีความสำคัญทางการแพทย์ชนิดอื่นมีความไวรับต่อการติดเชื้อไวรัสทั้ง 3 ตัวมากน้อยเพียงใด” นพ.รุ่งเรืองกล่าว
No comments