Header Ads

งานกิจกรรม “วันไตโลก” ภายใต้คำขวัญ “ตระหนักภัย ใส่ใจไต ป้องกันไว้ เน้นกลุ่มเสี่ยง”

งานกิจกรรม “วันไตโลก” (World Kidney Day 2023) ภายใต้คำขวัญ “Kidney Health For All- preparing for the unexpected, supporting the vulnerable” หรือ “ตระหนักภัย ใส่ใจไต ป้องกันไว้ เน้นกลุ่มเสี่ยง”

ทาง สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย, สมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย, สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะจัดกิจกรรมวันไตโลก(World Kidney Day 2023) “Kidney Health For All- preparing for the unexpected, supporting the vulnerable” ภายใต้คำขวัญ “ตระหนักภัย ใส่ใจไต ป้องกันไว้ เน้นกลุ่มเสี่ยง” ซึ่งเน้น การตระหนักถึงผลกระทบของภัยพิบัติ ทั้งจากธรรมชาติ (เช่น สถานการณ์ COVID อุทกภัย) และจากน้ำมือมนุษย์ ทั้งภายใน และภายนอกประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการบริการ วินิจฉัย และการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไต โดยการจัดกิจกรรมนี้เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวในการดูแลรักษาสุขภาพเพื่อป้องกันการเกิดโรคไตเพิ่มมากขึ้น
ด้าน กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาของผู้ป่วยโรคไตในประเทศไทย เป็นปัญหาที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าโรคอื่นๆ คนไทยมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากโรคเบาหวาน และโรคความดันสูง ผลที่ตามมาคือภาวะไตเสื่อม และไตจะเสื่อมเร็วขึ้นหากปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง เนื่องจากพฤติกรรมการรับประทานที่เปลี่ยนไป ทำให้พบโรคไตในเด็กด้วย สาเหตุหนึ่งคือการรับประทานอาหารเค็ม ฟาสต์ฟูด ขนมขบเคี้ยว โดยเฉพาะอาหารที่กำลังเป็นที่นิยม เนื้อหมักในซอสปรุงรส เกลือ ผงหมัก รวมน้ำจิ้มแล้ว โดยรวมความเค็มมากกว่าอาหารปกติถึง 5 - 10 เท่า ดังนั้นจึงอยากให้ประชาชนหันมาใส่ใจด้านการบริโภคอาหาร เพื่อช่วยให้มีสุขภาพที่ดี และเป็นการช่วยลดจำนวนผู้ป่วยจากโรคต่างๆ ได้อีกมาก
ด้าน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การส่งเสริมและการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตในแต่ละปี ได้จัดงบประมาณหลายล้านบาท โดยเน้นส่งเสริมป้องกันดูแลแบบครบวงจร นอกเหนือจากงบประมาณการล้างไตผ่านช่องท้อง การฟอกเลือด และการปลูกถ่ายไต ซึ่งผลการทำงานในแต่ละปี จะมีจำนวนผู้ป่วยที่สูงเกินกว่าเป้าหมายเพิ่มขึ้นทุกปี สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมากขึ้น สปสช. จึงได้เน้นส่งเสริมการป้องกันควบคู่การดูแลรักษา โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไม่ให้ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังเพิ่ม ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง ได้ให้สิทธิประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายครบวงจร รวมถึงสิทธิของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ของสำนักงานประกันสังคมด้วย เพื่อให้เข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพ และ ได้มาตรฐาน ครอบคลุมการบำบัดทดแทนไต ได้แก่ การผ่าตัดปลูกถ่ายไตการล้างไตผ่านทางช้องท้องอย่างต่อเนื่อง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม รวมถึงการให้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด

นอกจากการรักษาพยาบาลแล้ว สปสช. ได้ส่งเสริมให้มีเครือข่ายผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในโรงพยาบาล ปัจจุบันมีสมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย และสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกันพัฒนาเครือข่ายผู้ป่วยให้เข้มแข็ง ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคไตเข้าถึงการรักษา มีความรู้ความมั่นใจในการดูแลตนเองตามมาตรฐาน สร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่าง แพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย และครอบครัว ทำให้เข้าใจสิทธิการรักษา ลดปัญหาความขัดแย้ง และเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการได้อีกทางด้วย รวมถึงการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เพื่อไม่ให้ป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญของการเป็นโรคไตวาย หากป้องกันไตวายจะช่วยชะลอไตเสื่อมก่อนเวลาได้ และสนับสนุนให้มีการคลินิกเฉพาะในโรงพยาบาลอีกด้วย
ด้านสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้โรคไต ด้านการป้องกันและรักษาให้แก่ประชาชน และ มีบทบาทในการกำหนดทิศทาง นโยบายสาธารณสุขด้านโรคไตของประเทศ โดยทำงานประสานกับ กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ในการป้องกัน ดูแลรักษาด้านโรคไต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

การจัดกิจกรรมวันไตโลก(World Kidney Day 2023) “Kidney Health For All- preparing for the unexpected, supporting the vulnerable” ภายใต้คำขวัญ “ตระหนักภัย ใส่ใจไต ป้องกันไว้ เน้นกลุ่มเสี่ยง” ในวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2566 ณ บริเวณ ชั้น 1 โซน Central Court Zone C (ใกล้ลิฟต์แก้ว) ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมายอาทิ การตรวจสุขภาพโรคไต ฟรี สำหรับประชาชน โดยได้เตรียมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไตมาให้คำปรึกษากับประชาชน เพื่อที่ประชาชนไม่ต้องเสียเวลาไปโรงพยาบาลตรวจ ซึ่งการตรวจจะเป็นการตรวจคัดกรองโรคไต ได้แก่ การตรวจค่าการทำงานของไตจากการเจาะเลือด หรือการตรวจปัสสาวะ ดูปริมาณโปรตีนที่รั่วในปัสสาวะ

ภายในงานยังมีนิทรรศการให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพไต งานแสดงผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ การสาธิตการออกกำลังกายจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง การสาธิตการทำอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคไตโดยเชฟชื่อดัง และรายการบนเวทีที่ให้ทั้งความรู้และความบันเทิงจาก ดารา ศิลปินที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย และเป็นปีแรกที่ทางสมาคมฯได้จัดให้มีการประกวดหนุ่มสาวสุขภาพไตดี

นอกจากนี้ยังจัดทำเสื้อกิจกรรมวันไตโลก จำหน่ายในราคาตัวละ 299 บาท และขอเชิญชวนร่วมกิจกรรม “Kidney Health For All Fun Run วิ่งเพื่อสุขภาพเนื่องในวันไตโลก” ในวันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 05:30 - 08:30 น. ณ สวนสาธารณะ เบญจกิติ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ ค่าสมัคร 500 บาท โดยสิทธิประโยชน์ผู้สมัครจะได้รับเสื้อวิ่ง และเหรียญรางวัลเป็นที่ระลึกด้วย รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเพื่อสมทบทุนในการจัดกิจกรรมครั้งต่อไปอันจะส่งผลให้คนไทยมีสุขภาพดีถ้วนหน้า โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่ 02-718 1898 หรือ เว็บไซต์ www.nephrothai.org
ด้านมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นองค์ประธานก่อตั้ง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน

มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตและทางเดินปัสสาวะที่ยากไร้ โดยช่วย “ต่อชีวิต” ผู้ป่วยตามโครงการหน่วยไตเทียมทั่วประเทศ และช่วย “ชุบชีวิต” ผู้ป่วยด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายไต, สนับสนุนจัดประชุมวิชาการ ทุนวิจัย, ทุนแพทย์ศึกษาในประเทศ และทุนแพทย์ศึกษาต่อต่างประเทศ และให้ทุนฝึกอบรมพยาบาลไตเทียม นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนเป็นค่ายาและค่ารักษาผู้ป่วย,สนับสนุนเครื่องไตเทียม ระบบน้ำ และเครื่องมือทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ อีกด้วย


ในการนี้ มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย รู้สึกสำนึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่มีต่อมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย และผู้ป่วยโรคไตและทางเดินปัสสาวะที่ยากไร้ทั่วประเทศเป็นล้นพ้น ได้จัดตั้ง “โครงการปลูกถ่ายไตถวายเป้นพระราชกุศล 100 ปี ประสูติ สมเด็จพระเจ้านางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงขอเรียนเชิญท่านผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์ และขอเชิญชวนบริจาคอวัยวะเพื่อต่อชีวิตผู้ป่วย ถวายเป็นพระราชกุศลร่วมกันสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-419-7187 www.kidneythai.org

ด้าน สมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นมาด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของพยาบาลวิชาชีพโรคไต ทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาวิชาการ และองค์ความรู้ด้านการพยาบาลโรคไต พัฒนาบุคลากรด้านการพยาบาลโรคไต ให้บริการวิชาการด้านการพยาบาลโรคไตแก่ประชาชน

ในนามของ สมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการบริหารสมาคม มีความเชื่อมั่นว่าสมาคมจะเป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลโรคไตในประเทศไทย สร้างการยอมรับในสังคมในการส่งเสริม รักษาจรรยาบรรณ และเชิดชูเกียรติวิชาชีพของพยาบาลโรคไต ให้คำปรึกษา และข้อเสนอแนะ ในด้านการส่งเสริมการศึกษา การบริการ การวิจัยด้านการพยาบาลโรคไต นำเสนอความก้าวหน้าของสมาชิกต่อรัฐบาล ท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และองค์กรวิชาชีพ รวมถึงการให้ความรู้ด้านการป้องกันโรคไต และการบำบัดทดแทนไตแก่ประชาชน ประสานงานในด้านการดูแลรักษาพยาบาล และพัฒนาระบบงานที่มีความต่อเนื่องในบุคคล ครอบครัว ชุมชน ร่วมมือกับองค์กรการกุศล เพื่อการกุศล และสาธารณประโยชน์

ด้าน สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่ผู้ป่วยอาจมีอาการแย่ลงได้ทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว ผู้ป่วยหลายรายทราบว่าตนเองเป็นโรคไตก็ต่อเมื่อมีอาการแย่แล้ว ดังนั้น การระมัดระวังในการใช้ชีวิต การเรียนรู้เรื่องของความเสี่ยงต่างๆ ของโรคไต โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกินหมั่นสังเกตตนเอง และการเข้ารับการคัดกรองโรคไตเพื่อให้ได้เข้ารับการรักษาที่ทันถ่วงทีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในแต่ละปียังมีผู้ป่วยที่รอรับบริจาคไตอีกเป็นจำนวนมาก ปัญหาของผู้ป่วย คือ การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมกับสุขภาพ การบริโภคอาหารรสชาติเค็มเกินความพอดี ทำให้ผู้บริโภคเกิดปัญหาทางสุขภาพตามมา อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรังทั้งที่ยังไม่วาย และโรคไตที่วายแล้วต้องการการฟอกเลือด

ทาง สมาคมเพื่อนโรคไตฯ ได้สนับสนุน การรณรงค์ลดการบริโภคเค็มมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเด็นความเข้าใจผิดอย่างเรื่องเกี่ยวกับการบริจาคไต เพื่อให้ผู้ป่วยแล้ว ผู้บริจาคจะมีปัญหาสุขภาพอ่อนแอตามมา ซึ่งจากการวิจัยที่ผ่านมาของ American Medical Association ระบุว่าผู้บริจาคไตอาจมีอายุยืนพอๆ กัน หรือ มากกว่าคนที่มีไตครบทั้งสองข้างเสียอีก โดยที่ภายใน 12 ปีหลังการบริจาค กลุ่มที่บริจาคไตจะมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าคนที่มีไตครบทั้งสองข้างอย่างเห็นได้ชัด สำหรับในประเทศไทยมีผู้บริจาคไตประมาณ 300 รายต่อปี ซึ่งหมายความว่าในกลุ่มผู้รอบริจาคไตหนึ่งล้านคน จะมีผู้บริจาคเพียง 4.5 คนเท่านั้น

สุดท้ายนี้ ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจจะบริจาคอวัยวะสามารถศึกษาข้อมูลได้ที่ศูนย์บริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย หรือ www.organdonate.in.th หรือ สายด่วน 1666




No comments

Powered by Blogger.