Header Ads

“10 ของเล่น ปีใหม่ ระวัง.... อันตรายสำหรับเด็ก”

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จัดแถลงข่าวหัวข้อ “10 ของเล่น ปีใหม่ ระวัง.... อันตรายสำหรับเด็ก” ทั้งรูปแบบออนไซต์ ณ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลและ รูปแบบออนไลน์ /รับชม ผ่าน Facebook live NICFD Mahidol: https://www.facebook.com/NICFDMahidol
วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม 2565 ก่อนถึงวันปีใหม่ไม่กี่วัน สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล โดยรองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ได้แถลงข่าวเรื่อง 10 ของเล่นอันตรายที่พ่อแม่ต้องระวังในการซื้อเป็นของขวัญให้กับเด็ก ได้กล่าวว่า ภาพรวมปัญหาเด็กกับการคุ้มครองผู้บริโภคในบ้านเราว่า ในศูนย์วิจัยความปลอดภัยในเด็กนี้ ทำ 5 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1) อุบัติเหตุ แบ่งเป็นเรื่องย่อยอีก เช่น จมน้ำ จราจรทางถนน ความร้อน ฯลฯ 2) ความรุนแรง การทำร้ายเด็ก 3) มลพิษ มลพิษจากทางดิน ทางน้ำ ทางอากาศ จากภาคอุตสาหกรรมทั้งหลาย 4) ภัยพิบัติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ 5) ภัยจากข้าวของเครื่องใช้ ผลิตภัณฑ์ อยู่ในกลุ่มการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งภัยจากข้าวของเครื่องใช้ถือเป็น 1 ใน 5 กลุ่มงานที่เราทำที่นี่ เน้นที่เป็น ข้าวของเครื่องใช้ของเด็ก ของเล่นเด็ก ซึ่งมีหลายตัว โดย “ของเล่น” เรามีทำวิจัยไปหลายชนิด ทำตั้งแต่ทางด้านกายภาพ ด้านเคมี โดยการไปตรวจสอบ (ทดสอบ) ของเล่นแล้วดูว่ามีอันตรายไหม เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือเปล่า เพราะมาตรฐานอุตสาหกรรมของเล่นนี้เป็นมาตรฐานบังคับ
ในประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มีระบบการบันทึกการบาดเจ็บจากผลิตภัณฑ์ (product related injury surveillance system) พบว่าในประเทศไทยไม่มีระบบการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่ก่ออันตรายโดยตรง เหมือนประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศทางยุโรป รวมทั้งประเทศพัฒนาทั้งหลาย ทำให้ไม่มีข้อมูลที่ต่อเนื่องชัดเจนระบุถึงผลิตภัณฑ์อันตรายทำให้การแก้ไขการถอดถอนผลิตภัณฑ์ออกจากตลาดหรือการชี้และให้เจ้าของผลิตภัณฑ์นำไปแก้ไขในการผลิตจึงยังไม่เกิดขึ้น การใช้ข้อมูลต่างประเทศจึงมีความสำคัญอย่างมาก ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ตายจากของเล่นปีละประมาณ 10 ราย ครึ่งหนึ่งของเด็กเหล่านี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องได้รับการรักษาในห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลด้วยสาเหตุจากการบาดเจ็บที่เกิดจากของเล่นประมาณ 165,000 รายต่อปี ในจำนวนนี้ร้อยละ 34 เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ร้อยละ 60 ของการบาดเจ็บเกี่ยวกับของเล่นนี้เกิดขึ้นกับเด็กผู้ชายประมาณ ร้อยละ 97 ของเด็กบาดเจ็บจากของเล่นที่ได้รับการรักษาในห้องฉุกเฉินอาการไม่รุนแรงสามารถกลับบ้านได้ ร้อยละ 3 มีอาการรุนแรงต้องได้รับการรักษาเป็นประเภทผู้ป่วยใน
และรายงานปีล่าสุดเมื่อ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา พบอัตราการบาดเจ็บในเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี จากของเล่นถึง 404 คน ต่อ 1 แสนคน ปรากฏว่าเป็นของเล่นที่มีขายในประเทศไทยอยู่แทบทุกชิ้นโดยมี 10 ของเล่นที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นเหตุของการก่อการบาดเจ็บรวมทั้งบางชนิดมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ได้แก่

1.ของเล่นประเภทลูกล้อใช้ในการขี่ (ride-on toy) ในประเทศสหรัฐพบว่ามีสัดส่วนร้อยละ 30 ของการตายในเด็กที่เกิดจากของเล่น และเป็นเหตุให้ต้องได้รับการรักษาในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลอีก 71,500 รายต่อปี ร้อยละ 75 ของการตายมีสาเหตุจากการเล่นในพื้นที่ถนนและถูกยานยนต์ชนิดต่าง ๆ ชน นอกจากนั้นเกิดขึ้นจากการพลัดตก พื้นต่างระดับหรือล้มคว่ำ หรือตกในแหล่งน้ำต่าง ๆ ร้อยละ 47 ของการบาดเจ็บที่เกิดจากของเล่นเป็นการบาดเจ็บที่ศีรษะและบริเวณใบหน้าซึ่งรวมถึง ดวงตา ปาก และหู เช่น
รองเท้าสเก๊ต

หมายถึง รองเท้าที่มีลูกล้อติดอยู่ 4 ล้อ ล้อหน้าสองล้อ ล้อหลังอีกสองล้อ ล้อมีขนาดใหญ่ แข็งแรง ไม่สามารถพับเก็บได้ ตัวสเก๊ตอาจแยกออกจากรองเท้า เวลาจะเล่นผู้เล่นต้องใส่รองเท้าธรรมดาก่อนและนำเอาตัวสเก๊ตมายึดติด สมัยหนึ่งเป็นที่นิยมในเด็กไทย มีลานสเก๊ตให้บริการมากมาย แต่ปัจจุบันความนิยมลดลงไปมาก

สกู๊ตเตอร์

เป็นอุปกรณ์การเล่นที่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนักในประเทศไทย กลุ่มที่เล่นมักมีอายุน้อยกว่ากลุ่มอื่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มมีความนิยมตั้งแต่ปี 2000 มีรายงานการบาดเจ็บจากสกู๊ตเตอร์กว่า 27,600 รายในปี 2000 มีการตาย 5 ราย ร้อยละ 85 ของผู้บาดเจ็บมีอายุน้อยกว่า 15 ปี ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ การเล่นในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมเกิดการสะดุดล้ม ตกจากสกู๊ตเตอร์ หรือถูกรถชน รวมทั้งการเล่นในพื้นที่ถนนทำให้ถูกรถชนได้ บางรุ่นพบว่าบริเวณแฮนด์หรือมือจับไม่ยึดติดแน่นกับคอสกูตเตอร์ จึงเกิดการหลุดออกขณะใช้ทำให้ล้มบาดเจ็บได้ หนึ่งในสี่จะมีภาวะกระดูกหัก และเคลื่อนที่บริเวณมือและข้อมือ มีการศึกษาหนึ่งพบการบาดเจ็บศีรษะและสมองถึงหนึ่งในสามของการบาดเจ็บ การบาดเจ็บรุนแรงที่ต้องรับรักษาตัวไว้ในโรงพยาบาลพบร้อยละ 5 พบว่าร้อยละ 60 ของการบาดเจ็บสามารถป้องกันได้โดยการสวมใส่อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยต่าง ๆ ให้ครบถ้วน

ภาพแสดงสกู๊ตเตอร์

อุปกรณ์การเล่นที่ต้องอาศัยการทรงตัว เช่น รองเท้าสเก๊ต สเก๊ตบอร์ด สกู๊ตเตอร์นี้ ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เด็กก่อนวัยเรียนพละกำลังกล้ามเนื้อและความสามารถในการประสานงานของระบบประสาทยังไม่สมบูรณ์พอที่จะควบคุมอุปกรณ์ลื่นไหลที่ต้องบังคับร่างกายให้เกิดภาวะสมดุลย์ในระหว่างการเคลื่อนที่ ขณะเดียวกันเด็กก่อนวัยเรียนยังไม่เข้าใจเหตุผลของความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างแท้จริง ต้องมีผู้ใหญ่ดูแลในระยะที่มองเห็นและเข้าถึงได้ตลอดเวลา

การเล่นต้องใส่อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยทุกครั้ง ประกอบด้วยหมวกนิรภัย สนับข้อมือ (wrist guard) สนับศอก (elbow guard) และสนับเข่า (knee guard) เนื่องจากการบาดเจ็บที่ข้อมือจะพบได้บ่อยที่สุดคือประมาณร้อยละ 40 ของการบาดเจ็บทั้งหมด และอาจรุนแรงถึงขนาดกระดูกหักและเคลื่อนได้บ่อย กลไกการบาดเจ็บเกิดจากการล้มในท่าเหยียดแขน ใช้มือยันพื้น และข้อมืออยู่ในท่างอพับมากเกินไป (hyperextension) ดังนั้น การป้องกันโดยเพิ่มความแข็งแรงของข้อมือโดยใช้แผ่นพลาสติกหรือโลหะเสริมข้อมือไม่ให้หักพับมากเกินไปได้จะช่วยลดการบาดเจ็บของข้อมือได้ มีการศึกษาพบว่าผู้ใส่สนับข้อมือจะลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ถึง 6 เท่า การใส่สนับศอกและสนับเข่าจะลดการบาดเจ็บได้เช่นกัน อีกการศึกษาหนึ่งพบว่า สนับข้อมือ (wrist guard) จะลดการบาดเจ็บข้อมือลงได้ร้อยละ 87 สนับศอกจะลดการบาดเจ็บข้อศอกร้อยละ 82 และสนับเข่าจะลดการบาดเจ็บของหัวเข่าร้อยละ 32 ต้องเล่นในพื้นที่เตรียมไว้สำหรับเล่นโดยเฉพาะ หรือพื้นที่การเล่นต้องไม่เสี่ยงต่อการตกจากที่สูงและการถูกรถชน ต้องมีการออกแบบสนามหรือทางที่จะใช้เล่นให้เหมาะสมกับอุปกรณ์การเล่นแต่ละชนิด และต้องมีการดูแลสนามหรือทางที่จะใช้เล่นอย่างสม่ำเสมอเช่นไม่ให้มีสิ่งกีดขวาง เศษวัสดุที่จะเข้าไปติดพันลูกล้อ

ผู้เริ่มหัดเล่นต้องได้รับการฝึกฝนและมีผู้ดูแลใกล้ชิด เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการตก หกล้ม การบาดเจ็บส่วนใหญ่มักเกิดในผู้เริ่มเล่นครั้งแรก ดังนั้นอย่าปล่อยให้เด็กหัดเล่นเองคนเดียว การเริ่มเล่นครั้งแรกๆจะต้องมีผู้ดูแลเสมอ ผู้ดูแลเองต้องมีความรู้ว่าจะระวัง จะฝึกเด็กผู้เล่นได้อย่างไร และจะต้องปฏิบัติตามข้อ 1-4 อย่างเคร่งครัด นอกจากนั้น ผู้เล่นอุปกรณ์ลื่นไหลต้องได้รับการฝึกการล้มตัวที่ถูกวิธีเช่นการล้มแล้วหมุนตัว ไม่ใช่ล้มแล้วเอามือเหยียดยัน ซึ่งจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บข้อมือได้มาก

2.ของเล่นชิ้นเล็ก อุดกั้นทางเดินหายใจ ของเล่นชิ้นเล็กเป็นอันตรายต่อเด็กที่อายุน้อยกว่า 3 ปี เด็กอายุ 4 เดือน จะเริ่มเอามือทั้ง 2 ข้างมาจับกุมกันตรงกลางแล้วเอาเข้าปากดูดอม ต่อมาจะไขว่คว้าเอาของเข้าปากได้ เด็กทารกจะเรียนรู้สิ่งแวดล้อมโดยการใช้ปากเป็นหลัก ของเล่นที่มีความกว้างน้อยกว่า 3.71 ซม.จึงไม่ควรให้เด็กเล่นหรือหยิบได้ถึง เพราะหากเด็กเอาเข้าปากแล้วสำลัก จะทำให้ติดคอจะอุดตันทางเดินหายใจได้ ร้อยละ 54 ของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับของเล่นเกิดขึ้นจากการสำลักชิ้นส่วนของเล่นอุดตันหลอดลมทำให้ขาดอากาศหายใจ ร้อยละ 43 ของการตายกลุ่มนี้เกิดขึ้นจากลูกโป่ง เศษหรือชิ้นส่วนลูกโป่งที่แตกแล้ว เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี มีความเสี่ยงต่อการสำลักของเล่นสูงกว่าเด็กกลุ่มอายุอื่น ในสหรัฐอเมริกามีกฎหมายควบคุมของเล่นสำหรับเด็กอายุ 3 ปี หรือต่ำกว่าไม่ให้มีชิ้นส่วนขนาดเล็กที่สามารถสำลักอุดตันหลอดลมได้ สำหรับของเล่นเด็กอายุ 3-6 ปี ที่มีชิ้นส่วนขนาดเล็กต้องแสดงฉลากเตือนห้ามนำเข้าปากอาจเกิดอันตรายจากการสำลักเข้าหลอดลม

3. ลูกโป่ง พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการอุดตันทางเดินหายใจโดยลูกโป่งนั้นมี 2 แบบ แบบที่หนึ่งคือเด็กเป่าลูกโป่งเอง ในขณะเป่านั้น จังหวะที่เด็กต้องการหายใจเข้าเพื่อเติมลมในปอดนั้นจะต้องดูดอากาศเข้าอย่างแรงโดยมีลูกโป่งจ่ออยู่ที่ริมฝีปาก ทำให้เกิดโอกาสที่ลูกโป่งจะถูกดูดเข้าไปในปากและลงไปในหลอดลมเกิดการอุดตันทางเดินหายใจได้ อีกพฤติกรรมหนึ่งคือการที่เด็กเอาลูกโป่งที่ยังไม่ได้เป่าเข้าปากแล้วอมไว้หรือเคี้ยวเล่น การเผลอของเด็ก การวิ่ง ปีนป่าย หรือหัวเราะ อาจทำให้สำลักลูกโป่งที่อมไว้นั้นเข้าปอดเกิดการอุดตันทางเดินหายใจได้ เศษลูกโป่งที่แตกแล้ว ก่อให้เกิดความเสี่ยงแบบเดียวกันได้ทั้งสองกรณี คือการเอาเศษลูกโป่งมายืดออกไว้ที่ริมฝีปากและเป่า ในจังวหะหายใจเข้า เศษลูกโป่งอาจจะถูกดูดเข้าไปในปากและสำลักลงหลอดลม หรือการเอาเศษลูกดป่งอมเคี้ยวในปาก
ภาพ แสดงท่าเล่นเศษลูกโป่งของเด็กที่มีความเสี่ยง

การป้องกันอันตรายจากลูกโป่ง ไม่อนุญาตให้เด็กๆอายุน้อยกว่า 8 ปี เล่นลูกโป่งที่ยังไม่เป่า ผู้ใหญ่ต้องเป็นคนเป่าลูกโป่งให้เด็กๆที่อายุน้อยกว่า 8 ปีเท่านั้น สอนและห้ามเด็กมิให้อมลูกโป่งเข้าปากลูกโป่งที่แตกแล้ว ต้องเก็บเศษลูกโป่งให้หมดทันที อย่าให้เด็กเล่นโดยเด็ดขาด

4.ของเล่นที่มีถ่านแบตเตอรี่กระดุม..ที่หลุดออกง่ายเช่นเวลาของเล่น ทำให้เด็กเอาเข้าปากได้ง่าย หากมีแบตเตอรี่ขนาด 2.5 ขึ้นไปจะติดที่หลอดอาหารได้ง่าย ทำให้สารเคมีในถ่านรั่วซึมออกมาเป็นด่างกัดกร่อนหลอดอาหารทะลุได้

5.ของเล่นที่เป็นแม่เหล็กหลายชิ้นมากกว่า 1 ชิ้นขึ้นไปที่มีขนาดแม่เหล็กไม่ใหญ่สามารถกลืนลงได้ง่าย หากกลืนมากกว่า 1 ชิ้น แม่เหล็กที่อยู่กันคนละตำแหน่งในลำไส้จะดูดกันทำให้หนีบผนังลำไส้ไว้แน่นจนขาดเลือดมาเลี้ยงทำให้ลำไส้ทะลุ หรือ เกิดภาวะลำไส้บิดเกลียวได้

6.ของเล่นดูดน้ำพองตัว บางชนืดสามารถขยายได้ถึง 200 เท่า หากเด็กกลืนเข้าในลำไส้เกิดภาวะลำไส้อุดตันได้ แต่หากสำลักเข้าหลอดลมจะอุดกั้นทางเดินหายใจ ขาดอากาศได้

7.ของเล่นชนิดปืนของเล่นชนิดปืนมีหลายประเภท เช่นปืนอัดลม ปืนลูกดอก ปืนเหรียญ ปืนลูกบอล เป็นต้น ของเล่นเหล่านี้อาจเป็นอันตรายต่อตาได้ การบาดเจ็บที่ตาเกิดได้จากแรงกระสุนกระแทกที่ลูกตาทำให้เกิด เลือดออกในช่องลูกตาซึ่งต้องรับการรักษาและการหยุดการเคลื่อนไหวในระยะแรกเพื่อป้องกันการมีเลือดออกมากขึ้น ในบางรายอาจก่อให้เกิดต้อกระจกตามมาหลังการกระแทก บางรายกระสุนอาจทะลุเข้าฝังในลูกตาหรือกล้ามเนื้อตา บางรายเกิดการแตกของลูกตาและต้องผ่าตัดควักลูกตาทิ้งไป

ในประเทศพัฒนาได้มีความพยายามที่จะควบคุมของเล่นอันตรายโดยได้ออกมาตรฐานของเล่นที่เป็นลักษณะปืนที่ใช้ยิงได้ เช่นปืนอัดลม ปืนลูกดอก ปืนลูกบอล เป็นต้น โดยได้กำหนดความแรงไว้ไม่ให้เกินมาตรฐานความปลอดภัยที่จะเป็นของเล่นได้เช่น ในประเทศสวีเดนกำหนดไว้ว่าปืนของเล่นที่มีกระสุนชนิดต่างๆจะต้องผ่านมาตรฐาน 2 ข้อคือหนึ่งมาตรฐานยุโรปซึ่งกำหนดไม่ให้กระสุนมีความแรงมากกว่า 0.5 จูล มาตรฐานที่สองคือมาตรฐานออสเตรเลีย ซึ่งเน้นการตรวจสอบพละกำลังการทะลุทะลวง โดยได้ผลิตแผ่นเยื่ออลูมินัม ฟอยล์มาตรฐานขึ้นมา และเมื่อนำของเล่นประเภทยิงมีกระสุนมาตรวจสอบ หากกระสุนสามารถถูกยิงผ่านทะลุแผ่นเยื่อนี้ไปได้ ของเล่นชิ้นนั้นไม่สามารถขายได้
ภาพแสดงการทดสอบความแรงของปืนของเล่น 
เพื่อควบคุมมิให้ของเล่นปืนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการบาดเจ็บอยู่ในตลาดได้

ปืนอัดลม เป็นปืนพลาสติก มีกระสุนเป็นเม็ดพลาสติกกลมเล็กๆ กระสุนส่วนใหญ่เป็นสีเหลือง สีอื่นก็มีแต่ไม่นิยม ราคาตกกระบอกละ 60-200 บาท แต่ถ้าเป็นปืนที่มีความแรงเพิ่มขึ้นจนเป็นปืนลักษณะที่ใช้เล่นเป็นกีฬาในผู้ใหญ่ ได้แก่ ปืน BB gun ราคาจะสูงเพิ่มขึ้น อันตรายรุนแรงขึ้นมากเช่นเดียวกัน

ปืนอัดลมที่มีขายทั่วไปนี้เป็นอันตรายต่อลูกนัยน์ตาเด็กจำนวนมาก ในประเทศสหรัฐอเมริการายงานว่ามีคนที่บาดเจ็บจากปืนอัดลมประมาณ 30000 รายต่อปี ในจำนวนนี้ร้อยละ 81 เป็นเด็กและวัยรุ่นอายุน้อยกว่า 19 ปี การบาดเจ็บนี้ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลร้อยละ 5 ในจำนวนนี้ร้อยละ 37 เกิดจากการบาดเจ็บที่ลูกนัยน์ตา ในประเทศไทย คาดการณ์ทั่วประเทศน่าจะมีการบาดเจ็บนี้กว่า 9000 รายต่อปี

การป้องกัน ผู้ดูแลเด็กต้องไม่สนับสนุนให้เด็กเล่นของเล่นที่มีมีลูกกระสุนทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทปืนทอัดลมทุกกลุ่มอายุ แม้ว่าเด็กโตจะสามารถเล่นอย่างระมัดระวังตัวเองได้ก็ตาม แต่มักจะเป็นเหตุให้เด็กอื่นในบ้านได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะเด็กเล็กในบ้าน ชุมชนต้องช่วยกันดูแลอย่าให้มีปืนอัดลมขายในตลาด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมมาตรฐานของเล่นได้แก่สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องตรวจสอบความแรงของปืนอัดลมที่มีในตลาด รวมทั้งปืนของเล่นที่มีกระสุนทุกชนิด เมื่อพบว่ามีความแรงเกินกว่ามาตรฐานควรมีมาตรการควบคุม เรียกเก็บจากตลาด การวางขายทั่วไปควรเป็นสิ่งต้องห้าม
ภาพแสดงรูปแบบของเล่นชนิดปืนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการบาดเจ็บที่ตาแบบต่างๆ

8.วัตถุระเบิด..พลุ ดอกไม้ไฟ ไม่ใช่ของเล่น พลุและดอกไม้ไฟ มักทำให้เกิดการบาดเจ็บที่มือ สูญเสียนิ้วมือ บาดเจ็บที่ตา ทำให้ตาบอด บาดเจ็บที่ใบหน้าทำให้เกิดแผลเป็น หรือไฟไหม้ทั้งตัวทำให้สูญเสียชีวิตได้

สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้วิเคราะห์ข้อมูลจาก 28 โรงพยาบาลเครือข่ายในระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บระดับชาติ พบว่ามีผู้บาดเจ็บรุนแรงจากการถูกเปลว สะเก็ดดอกไม้ไฟ หรือพลุ จำนวน 502 คน ตาย 9 คน ร้อยละ 44.3 ของผู้บาดเจ็บรุนแรงทั้งหมด เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ร้อยละ 92.4 ของผู้บาดเจ็บเป็นเพศชาย เวลาที่เกิดเหตุสูงสุดคือ เวลา 16.00 - 19.59 น. โดยเกิดเหตุเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.6

พบว่าเป็นการบาดเจ็บที่มือและข้อมือมากที่สุดร้อยละ44.4 ในจำนวนนี้มีกระดูกนิ้วมือแตกหรือหัก ร้อยละ 25.0 รองลงมาคือ บาดเจ็บที่ศีรษะและใบหน้า ร้อยละ14.3 ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่มีการบาดเจ็บที่ตาและรอบ ๆ ดวงตาร่วมด้วย (ร้อยละ 44.4) ร้อยละ 28.6 มีแผลไหม้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จากความร้อนของเปลวไฟ และสะเก็ดดอกไม้ไฟ หรือพลุ

การป้องกัน

- อย่าให้เด็กเล่นพลุและดอกไม้ไฟเป็นอันขาด ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตาม

- อย่าให้ใบหน้าของผู้เล่นอยู่เหนือพลุและดอกไม้ไฟ เพราะอาจระเบิดหรือพุ่งเข้าสู่ใบหน้าผู้เล่นได้ตลอดเวลา

- อย่าอยู่ใกล้ผู้ดื่มสิ่งมึนเมาและเล่นพลุและดอกไม้ไฟ เพราะจะเป็นเหตุสำคัญในการขาดความระมัดระวังและเกิดอันตรายแก่ผู้เล่นและผู้อยู่ใกล้

- ในกรณีที่พลุและดอกไม้ไฟจุดแล้วไม่ทำงานหรือทำงานครึ่งๆกลางๆแล้วดับไป อย่า!.. จุดไฟใหม่เพราะอาจระเบิดและมักเป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บอยู่เสมอ

- ควรมีถังน้ำใกล้ตัวหรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำ ในกรณีที่พลุและดอกไม้ไฟทำงานผิดพลาดหรือติดไฟ ให้โยนใส่แหล่งน้ำ

- ก่อนจุดพลุและดอกไม้ไฟ ดูรอบข้างให้ดี ต้องมั่นใจว่าไม่มีผู้ใดรอบข้างจะบาดเจ็บได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก

9.ของเล่นที่มีสารเคมีเป็นพิษ มีslimeที่ใช้กาวเป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจ ทาเลทที่ทำให้พลาสติกอ่ออนิ่มทำให้อรบกวนต่อมไร้ท่อมีผลต่อฮอร์โมนร่างกาย สารตะกั่วในสีเคลือบสีพ่นมีผลต่อสมองและเม็ดเลือดแดง

10.ของเล่นในน้ำอุปกรณ์ช่วยลอยตัวทั้งหลายที่มีคำเตือนว่าไม่ป้องกันการจมน้ำ..เช่นห่วงยางเป่าลมทั้งหลาย ที่มักทำให้พ่อแม่เข้าใจผิดว่าสามารถปล่อยลูกตามลำพังในน้ำได้เพราะเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิต ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด

ของเล่นที่ผู้ดูแลเข้าใจผิดว่าเป็นของเล่น แต่แท้จริงไม่ใช่ของเล่นยังมีอีกมาก เช่นสื่อการสอน ของแถมต่างๆ โทรศัพท์มือถือ สิ่งของเหล่านี้ไม่ได้ถูกทดสอบมาเป็นของเล่น ไม่มีมาตรการตรวจสอบรับรองเป็นมาตรฐานของเล่น การนำมาให้เด็กเล่นพ่อแม่ต้องเรียนรู้โทษที่อาจจะเกิดขึ้น และปกป้องตนเองให้มาก เพราะไม่มีหน่วยงานช่วยดูแลเหมือนของเล่นที่ถูกนิยามตามกฎหมาย

การควบคุมของเล่นอันตรายหรือผลิตภัณฑ์อันตรายอื่นๆเป็นวิธีหนึ่งซึ่งจะนำไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยแก่เด็ก ในการควบคุมผลิตภัณฑ์อันตรายแต่ละชนิดนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลายสาขาวิชาชีพ และต้องการการจัดการในหลายมิติเช่น มีความเกี่ยวข้องกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมชุมชน เกี่ยวข้องกับการควบคุมมาตรฐาน เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค เกี่ยวข้องกับกลไกการตลาด เป็นตัน ดังนั้นขั้นตอนการควบคุมผลิตภัณฑ์อันตรายจะต้องเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยง (risk assessment) ของผลิตภัณฑ์ ซึ่งประกอบด้วย การค้นหาตัวผลิตภัณฑ์อันตรายที่ก่อเหตุ (hazardous product identification) การประเมินความสัมพันธ์ของบุคคลและผลิตภัณฑ์ (exposure assessment) เช่นในกรณีของเล่นจะประเมินพฤติกรรมการเล่นของเด็ก วัฒนธรรมการดูแลเด็กของครอบครัวและวิถีชีวิตของชุมชน คุณลักษณะของของเล่นหรือผลิตภัณฑ์เสี่ยงนั้น (risk characterization) รวมทั้งกระบวนการผลิต การจำหน่ายและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงแล้ว ขั้นตอนต่อไปเป็นการใช้ผลการวิคราะห์สู่การป้องกันหรือการจัดการความเสี่ยง (risk management) ซึ่งสามารถป้องกันได้ที่ตัวบุคคลโดยการให้ความรู้เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ผลิตภัณฑ์นั้น หรือให้ความรู้แก่ผู้ดูแลเพื่อให้ผู้ดูแลตระหนักและให้การดูแลที่ใกล้ชิด หรือปรับเปลี่ยนคุณลักษณะความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ ซึ่งดำเนินการได้โดย

· กำจัดผลิตภัณฑ์ออกจากตลาด

· เปลี่ยนแปลงรูปร่างผลิตภัณฑ์

· ใช้พร้อมอุปกรณ์เสริมความปลอดภัย

· ใช้โดยจำกัดลักษณะผู้ใช้ ในกรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดอันตราย

· ใช้พร้อมกับการให้การศึกษาหรือคำเตือนแก่ผู้บริโภค

No comments

Powered by Blogger.