สธ. เปิดประชุมวิชาการวิสัญญีพยาบาลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 21
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการชมรมวิสัญญีพยาบาลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 21 “ทันยุคกับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่และพร้อมรับมือกับสังคมดิจิทัลในการพยาบาลวิสัญญี” พร้อมปาฐกถาหัวข้อ ทิศทางอนาคตสาธารณสุขของประเทศไทยและบทบาทของพยาบาลวิสัญญีในการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ เน้นการทำงานเป็นทีม สร้างความมั่งคงทางสุขภาพ นำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มคุณภาพงานบริการ โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
เมื่อวันที่10 มิถุนายน 2566 ที่ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กทม. นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมวิชาการชมรมวิสัญญีพยาบาลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 21 ประจำปี 2566 “ทันยุคกับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่และพร้อมรับมือกับสังคมดิจิทัลในการพยาบาลวิสัญญี” (Up to date of big data and how to deal with digital society in anesthesia nursing) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 มิถุนายน 2566 เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการเตรียมพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมดิจิทัล นำข้อมูลและเทคโนโลยีมาเพิ่มคุณภาพประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างเหมาะสม ถูกต้องและปลอดภัย รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัย งานวิชาการ นวัตกรรม องค์ความรู้ใหม่ ๆ และประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรวิชาชีพเพื่อพัฒนาความก้าวหน้าของวิสัญญีพยาบาล พร้อมปาฐกถาหัวข้อ ทิศทางอนาคตสาธารณสุขของประเทศไทยและบทบาทของพยาบาลวิสัญญีในการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ และเยี่ยมชมผลงาน Poster presentation พร้อมมอบประกาศนียบัตรให้กับ 20 ผลงาน ที่ผ่านการคัดเลือก โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งออนไซต์และออนไลน์กว่า 700 คน
นายแพทย์โอภาสกล่าวว่า จากสถานการณ์ของโลกมีความเปลี่ยนแปลงและผันผวน ทั้งการระบาดของโรค ความขัดแย้งระหว่างประเทศ สภาพอากาศ เทคโนโลยี รวมถึงโครงสร้างประชากร นับเป็นความท้าทายของระบบสาธารณสุขไทย ซึ่ง 63 สาขาวิชาชีพของกระทรวงสาธารณสุข ต้องร่วมมือกันทำงานเป็นทีม โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและบุคลากรที่ทำงาน สร้างความมั่นคงทางสุขภาพ (Health Security) รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดูแลประชาชน ซึ่งมีหลายโรงพยาบาลที่ดำเนินการแล้ว เช่น เทเลเมดิซีน แอปพลิเคชั่นนัดหมาย ระบบ OPD Paperless ลดขั้นตอนในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นต้น
“เมื่อมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ต้องมีระบบดูแลความปลอดภัยจากการคุกคามในโลกไซเบอร์ (Cyber Security) เพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญ”นายแพทย์โอภาสกล่าว
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า ในส่วนบริการสาธารณสุข ต้องมีการปรับรูปแบบการจัดบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและบริบทของพื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นสังคมเมืองมากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องปรับมุมมองและแนวคิด จำนวนบุคคลากรให้สอดคล้องกับภาระงาน ซึ่งปัจจุบันภาระงานของรพศ./รพท. มีค่อนข้างมากโดยเฉพาะงานบริการที่มีความซับซ้อน เช่น การผ่าตัด จึงต้องวางแผนผลิตและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านวิสัญญีพยาบาลให้เหมาะสม พร้อมทั้งส่งเสริมความก้าวหน้าในสายวิชาชีพด้วย
ทั้งนี้ การประชุมฯ ประกอบด้วย กิจกรรมการอภิปราย การเสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ การนำเสนอผลงานวิจัย oral presentation บทบาทวิสัญญีพยาบาลด้านงานวิชาการและนวัตกรรมการแสดงผลงานวิชาการ โครงการพัฒนาคุณภาพงาน นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์
No comments