ม.อ. - เค. เอ็ม. พี. ไบโอเทค เปิดตัว “การพัฒนาสายพันธุ์โพรไบโอติกสายพันธุ์ใหม่” ตามเกณฑ์มาตรฐานนานาชาติ
อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ บริษัท เค. เอ็ม. พี. ไบโอเทค จำกัด จัดแถลงข่าวการพัฒนาจุลินทรีย์โพรไบโอติก จากงานวิจัยนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ ด้านสุขภาพและด้านการแพทย์ รวมถึงให้ตรงตามมาตรฐานสากลและประเทศไทย โดยมี นายวรสันต์ โสภณ รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ เป็นประธานกล่าวเปิดงานฯ ศาสตราจารย์ ดร.รวี เถียรไพศาล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวแนะนำความเป็นมาและแนะนำผลงานวิจัย และมี นายสัตวแพทย์ไพรัช ธิติศักดิ์ ประธานกรรมการ บริษัท เค. เอ็ม. พี. ไบโอเทค จำกัด กล่าวแนะนำโรงงาน และ ศาสตราจารย์ ดร.ทพญ. ชิดชนก ลีธนะกุล คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้เกียรติเข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย ณ ห้อง Altitude (อัลติจูด) ชั้น 25 โรงแรม เดอะ เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ ณ โรงแรม เดอะ เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ
นายวรสันต์ โสภณ รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า การพัฒนาโพรไบโอติก ซึ่งเป็นผลงานของ ศาสตราจารย์ ดร. รวี เถียรไพศาล และคณะวิจัย จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่นำงานวิจัยนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อสุขภาพและทางการแพทย์เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดีในความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาผลงานวิจัยในด้านการพัฒนาโพรไบโอติกออกสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้จริงร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนหน่วยงาน สังคม และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการส่งต่อเทคโนโลยี สู่การผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติก โพสต์ไบโอติก และ Heat Killed Probiotics ในระดับโรงงาน ตามมาตรฐาน อย. เพื่อนำไปใช้ประกอบเป็นผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกและโพสต์ไบโอติกในรูปแบบต่าง ๆ ต่อไป โดยมหาวิยาลัยสงขลานครินทร์ และบริษัท เค. เอ็ม. พี. ไบโอเทค จำกัด มีความมุ่งหวังที่จะทำให้ทั้งโลกเห็นศักยภาพของประเทศไทยในการสร้างนวัตกรรมโพรไบโอติก โพสต์ไบโอติกและ Heat Killed Probiotics เพื่อสุขภาพและทางการแพทย์ สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ต้นทุนต่ำ คุณภาพเทียบเท่าผลิตภัณฑ์ต่างประเทศ สามารถแข่งขันและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติได้
ศาสตราจารย์ ดร.รวี เถียรไพศาล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การวิจัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลามากกว่า 10 ปี ในการคัดเลือกสายพันธุ์โพรไบโอติกสายพันธุ์ใหม่ ตามเกณฑ์มาตราฐานนานาชาติ กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก ในการคัดเลือกสายพันธุ์โพรไบโอติกเพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร งานวิจัยได้ผ่านการทดสอบชนิดสายพันธุ์อย่างถูกวิธีด้วยเทคนิคชีวโมเลกุล การทดสอบประสิทธิภาพทางคลินิก และ ความปลอดภัยในการนำมาใช้ประโยชน์ โดยแสดงผ่านผลงานตีพิมพ์มากกว่า 30 ฉบับ ที่เป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการนานาชาติ และมีการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อสุขภาพช่องปากโดยเฉพาะในการป้องกันฟันผุและโรคปริทันต์อักเสบ ในเวลาต่อมาได้ขยายการวิจัยเพื่อสุขภาพอื่น ๆ ได้แก่ การใช้เพื่อสร้างสมดุลจุลินทร์ในร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ และต้านเชื้อก่อโรค นำไปสู่การใช้ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกเชิงพาณิชย์ในผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ อาทิ นมอัดเม็ด เม็ดอม ผงโพรไบโอติก และเวชสำอาง จนเป็นที่ประจักษ์ สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ทั้งในประเทศ และขยายสู่ต่างประเทศ ปัจจุบันได้มีการพัฒนาการใช้โพสต์ไบโอติก ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่ได้จากจุลินทรีย์โพรไบโอติกมาใช้ประโยชน์อีกด้วย
No comments