มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ร่วมสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ส่งมอบวัคซีน IPD 3,000 โด๊ส


องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 12 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันปอดอักเสบโลก หรือ World Pneumonia Day เพื่อสร้างความตระหนัก และความสำคัญ พร้อมร่วมรณรงค์ ปลุกจิตสำนึก เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคปอดอักเสบแก่ประชาชนทั่วโลก ซึ่งจะช่วยป้องกันการเสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบ ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรคติดเชื้อที่มีอุบัติการณ์การเสียชีวิตสูงสุดโรคหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นภัยเงียบที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตไปแล้วกว่า 2.5 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2562 โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กกว่า 672,000 คน1 และในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนนับล้านเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเสียชีวิตมากขึ้น และโรค Invasive Pneumococcal Disease (IPD) ก็เป็นเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคปอดอักเสบ และหลาย ๆ คนอาจไม่ทราบว่าโรค IPD ยังคงเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนในเด็กเล็กที่อายุ ต่ำกว่า 5 ปีด้วย2 ดังนั้นการสร้างการตระหนักรู้ในโรคนี้ รวมไปถึงการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มเสี่ยงจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ

ดังนั้นหากลูกหลานมีอาการใกล้เคียงกับโรค IPD ควรรีบได้รับการวินิจฉัย และรักษาจากแพทย์อย่างรวดเร็ว เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและโอกาสการเกิดผลกระทบระยะยาว นอกจากนี้เชื้อนิวโมคอคคัสยังสามารถทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้อีกหลายชนิดแม้ไม่รุนแรง แต่ก็พบได้บ่อย เช่น โรคไซนัสอักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบ แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค IPD จากการซักประวัติ จากอาการ และการตรวจร่างกายผู้ป่วย เช่น การเอกซเรย์ปอด และการตรวจเสมหะ หรือส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันว่าอาการของโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส และเมื่อตรวจพบเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสแล้ว แพทย์จะทำการให้ยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะในขนาดที่เหมาะสมกับโรคและอาการ แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามก็พบว่าในประเทศไทยเชื้อนิวโมคอคคัส มีอัตราการดื้อยาปฏิชีวนะสูงขึ้น ซึ่งเกิดจากการใช้ที่ไม่ถูกวิธี ทำให้พบปัญหาเชื้อดื้อยามากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้กระบวนการการรักษามีความซับซ้อน และเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามากขึ้น

ด้าน ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กรรมการมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน กล่าวว่า “โรค IPD มักพบบ่อยในเด็กเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปีที่สุขภาพดีไม่มีโรคประจำตัวใด ๆ ก็ตาม นอกจากนี้ยังพบบ่อยในเด็กที่มีโรคประจำตัวโดยไม่ขึ้นกับอายุ เช่น เด็กที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง จากสาเหตุต่าง ๆ ภาวะไม่มีม้ามหรือการทำงานของม้ามบกพร่อง โรคเรื้อรังของอวัยวะต่าง ๆ เช่น โรคปอด (รวมทั้งหอบหืดรุนแรง) โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน และโรคที่เสี่ยงต่อเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น น้ำในกระดูกไขสันหลังรั่ว ใส่ชุดประสาทหูเทียม จากข้อมูลอัตราการเกิดโรค IPD จะเห็นว่า เด็กที่เป็น IPD มีภาวะเสี่ยงเหล่านี้เพียงประมาณ 1/3 เท่านั้น อีก 2/3 เป็นเด็กเล็กที่ไม่ได้มีภาวะเสี่ยงอื่นใด นอกจากอายุน้อย โดยเฉพาะที่น้อยกว่า 1 ปี เพราะ IPD เป็นโรคของเด็กเล็กเป็นหลักนอกจากนี้ ผู้สูงวัยที่อายุเกิน 65 ปี ก็นับว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะถ้ามีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ ภูมิคุ้มกันต่ำจากสาเหตุต่าง ๆ และโรคเรื้อรังต่าง ๆ
ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลของประเทศไทยแล้วพบว่าการบรรจุวัคซีน IPD เข้าสู่แผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคจะมีความคุ้มค่าอย่างมาก ช่วยประหยัดงบประมาณของภาครัฐในการรักษาได้เป็นอย่างดี ในขณะนี้ประเทศไทย มีเด็กไทยเพียงแค่ 10% เท่านั้นที่เข้าถึงวัคซีน IPD เนื่องจากยังไม่ถูกบรรจุอยู่ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคซึ่งหมายถึงรัฐยังไม่ได้ให้ฟรี ยังคงเป็นวัคซีนที่คุณพ่อคุณแม่ ต้องเสียเงินซื้อเองอยู่ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราทุกคนควรช่วยกันผลักดันให้เด็กไทยเข้าถึงวัคซีน IPD กันมากขึ้นซึ่ง ณ ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ได้มีโครงการฉีดวัคซีน IPD นำร่องที่จังหวัดมหาสารคาม เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่วัคซีน IPD จะบรรจุอยู่ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้เด็กไทยทั่วประเทศ เด็ก ๆ ในจังหวัดมหาสารคามสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ฟรีก่อนจังหวัดอื่น นอกจากนี้ ทางกรุงเทพมหานคร กำลังดำเนินโครงการให้วัคซีน IPD แก่เด็กในกรุงเทพมหานครแล้ว ที่จริงแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ก็สามารถมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน หรือทำให้เด็ก ๆ ได้รับวัคซีนจำเป็นตัวนี้โดยเร็วที่สุดได้เช่นกัน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาจจัดสรรงบประมาณบางส่วนมาซื้อวัคซีน IPD ให้เด็ก ๆ ในเขตปกครองของตนเช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร และดังเช่นในวันนี้ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ก็ได้จัดทำโครงการที่สำคัญนี้โดยได้รับการสนับสนุนวัคซีนจากไฟเซอร์ เพื่อให้เด็ก ๆ ที่มีความเสี่ยงสูงต่อ IPD ได้เข้าถึงวัคซีน และได้รับการป้องกันมากขึ้น”

นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน และอดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า “มูลนิธิฯ ยังคงมีความมุ่งมั่นเดินหน้ารณรงค์ และให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรค และลดการเสียชีวิตจากโรคมาอย่างต่อเนื่อง โดยสำหรับในปีนี้ มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ยังคงเดินหน้าสานต่อความร่วมมือกับสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ในโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส 13 สายพันธุ์ เพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยงต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 เด็กกลุ่มนี้ได้แก่ เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เป็นโรคมะเร็ง ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ติดเชื้อเอชไอวี หรือมีโรคประจำตัว เช่นโรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคปอด เด็กที่ไม่มีม้าม เด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ IPD มากกว่าในเด็กปกติหลายเท่า อีกทั้งมีโอกาสเสียชีวิตหรือพิการได้มาก หากเด็ก ๆ เหล่านี้ได้รับวัคซีนก็จะช่วยลดโอกาสเจ็บป่วย ลดค่ารักษาพยาบาล ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการที่พ่อแม่ต้องหยุดงานเพื่อมาดูแลลูกที่ป่วย ซึ่งมูลนิธิฯ ได้ให้ความสำคัญเรื่องการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันสำหรับเด็กไทย โดยเน้นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสำหรับเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และสมควรได้รับการป้องกันเป็นอันดับแรก
นอกจากนี้มูลนิธิฯ พร้อมผลักดันให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่งในปัจจุบันวัคซีนนับเป็นเครื่องมือสำคัญในการดูแลสุขภาพ และเป็นอาวุธที่สำคัญที่สุดในการป้องกันโรค โดยเฉพาะในวัยเด็กซึ่งเป็นวัยที่ภูมิคุ้มกันยังทำงานไม่สมบูรณ์ และมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อจากโรคต่าง ๆ โดยในปีนี้เราได้ส่งมอบวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี 13 สายพันธุ์ เพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยงจำนวน 3,000 โด๊ส แก่โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 35 โรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถเข้าถึงเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และไม่สามารถเข้าถึงการป้องกันได้เพิ่มขึ้น และทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยจะครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย ซึ่งมีเด็กในกลุ่มเสี่ยงต่อโรค IPD มากกว่าหลายพันคนที่ได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันไปแล้วภายใต้โครงการฯ นี้”
เอกสารอ้างอิง:
1.
World Pneumonia Day 2022. Access 10 Nov
2022. https://stoppneumonia.org/
2.
Isaacman DJ et al. International Journal
of Infectious Disease. 2010;14:e197-e209
3.
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย.
โรคไอพีดี (IPD). Access 10 Nov 2022. https://www.pidst.or.th/A744.html
4.
Baldo V et al. Prev Med
Rep. 2015;2:27–31.
5.
Dilokthornsakul P et al.
Vaccine. 2019;37:4551-4560.
6.
World Health
Organization. Pneumococcal vaccines WHO position paper—2012. Wkly Epidemiol
Rec. 2012;87(14):129-144.
7.
ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย แนะนำโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 2565.
Access 10 Nov 2022. https://www.pidst.or.th/A1150.html
8.
Moore MR, et al. Lancet
Infect Dis. 2015;15(3):301-309
No comments