Header Ads

กรมอนามัย ชี้ ‘ตู้กาแฟกัญชา’ เป็นกิจการเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต้องขอนุญาตท้องถิ่น


กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชี้ ตู้กาแฟรวมถึงตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติที่มีส่วนผสมของกัญชา ถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต้องขออนุญาตราชการส่วนท้องถิ่นก่อนดำเนินการ และต้องไม่ขัดต่อกฎหมายอื่น ๆ ย้ำ ผู้ประกอบกิจการควรติดป้ายสัญลักษณ์หรือแสดงข้อความเตือนให้ชัดเจนและแสดงข้อแนะนำความปลอดภัยในการบริโภคเครื่องดื่มที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เช่น ผู้ที่แพ้กัญชา บุคคลที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตรควรงดเว้นรับประทาน 

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันเริ่มมีตู้กาแฟกัญชาและตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติที่มีส่วนผสมของกัญชา วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าหรือบริเวณต่างๆ นั้น ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ตู้กดเครื่องดื่มแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติ มีลักษณะการทำงานของตู้คือมีการผสมผงเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ อาทิ ชา กาแฟ กัญชา กับน้ำร้อนภายในตู้ และผลิตออกมาเป็นเครื่องดื่มร้อนใส่แก้วกระดาษหรือภาชนะอื่นใดที่ติดตั้งพร้อมในตู้

กรณีนี้เข้าข่ายเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2558 ประเภทที่ 3 (17) การผลิต สะสม หรือแบ่งบรรจุ น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำโซดา น้ำจากพืช ผัก ผลไม้ เครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ ตามมติคณะอนุกรรมการบริหารและขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข การประชุมครั้งที่ 10-1/2564 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งได้พิจารณาข้อหารือกรณีการประกอบกิจการตู้กาแฟหยอดเหรียญอัตโนมัติ หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดได้ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทดังกล่าวไว้ ผู้ใดจะดำเนินกิจการประเภทดังกล่าวในลักษณะที่เป็นการค้า ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นนั้นก่อนประกอบกิจการ ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยกเว้นเป็นการดำเนินกิจการในสถานที่จำหน่ายอาหาร การเร่ขาย การขายในตลาด และการผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือน ทั้งนี้ หากฝ่าฝืนประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีโทษตามมาตรา 71 จำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   

นายแพทย์อรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า รวมทั้งตู้จำหน่ายเครื่องดื่มแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติ ที่บรรจุหรือสะสมเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาในขวดหรือภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทไว้จำหน่าย ก็เข้าข่ายเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทที่ 3 (17) การสะสม เครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ บรรจุกระป๋อง ขวดหรือภาชนะอื่นใด เช่นเดียวกัน ซึ่งทั้ง 2 กรณี ราชการส่วนท้องถิ่น ต้องตรวจสอบและพิจารณาอนุญาตโดยต้องไม่ขัดต่อกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากกฎกระทรวงควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2560 ข้อ 5 กำหนดให้ผู้ดำเนินกิจการในสถานประกอบกิจการประเภทที่ราชการส่วนท้องถิ่นได้ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดให้เป็นกิจการที่ต้องควบคุมและมีผลใช้บังคับในท้องถิ่นนั้นแล้ว ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะกรณีการประกอบกิจการติดตั้งตู้กดเครื่องดื่มแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทกัญชา จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ กฎหมายว่าด้วยอาหาร และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดให้กัญชา (เฉพาะส่วนของช่อดอก) เป็นสมุนไพรควบคุม ผู้ใดจะจำหน่ายสมุนไพรควบคุมต้องได้รับใบอนุญาตตามความในมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 

“ทั้งนี้ มาตรการกฎหมายเป็นมาตรการหนึ่งที่จะควบคุมดูแล แต่ที่สำคัญคือการสร้างความร่วมมือ
ทุกภาคส่วน โดยมุ่งเน้นสร้างความรอบรู้ให้กับประชาชน เพื่อให้สามารถตัดสินใจเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ และมีส่วนร่วมเฝ้าระวังร่วมกับภาครัฐ และในส่วนผู้ประกอบกิจการก็ต้องสร้างความตระหนักต่อสังคมในการที่จะระมัดระวังการจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาในเด็กหรือสตรีมีครรภ์ ” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว


No comments

Powered by Blogger.